ราชบุรีแล้งเข้าสู่วิกฤติ อ่างเก็บน้ำแห้งขอด เจ้าพระยาลดฮวบกว่า3ม.

  • 11 พ.ค. 2563
  • 756
หางาน,สมัครงาน,งาน,ราชบุรีแล้งเข้าสู่วิกฤติ อ่างเก็บน้ำแห้งขอด เจ้าพระยาลดฮวบกว่า3ม.

เจ้าพระยาวิกฤติระดับน้ำลดฮวบ ที่ จ.ชัยนาท ต่ำกว่าตลิ่งเกือบ 3 เมตร กระทบแพขนานยนต์ข้ามฟากต้องปิดให้บริการ ที่ จ.ราชบุรีอ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็งแห้งสุดในรอบ 15 ปี เหลือใช้อุปโภคบริโภคเพียงอย่างเดียว ทำให้นาข้าวและพืชผลการเกษตรเกือบ 1.5 หมื่นไร่ ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เหลือน้ำใช้แค่ 7 เปอร์เซ็นต์ ด้านกระทรวงเกษตรฯ ผันงบฯ 160 ล้านบาท จ้างงานชาวนาหวังชดเชยรายได้ช่วงชะลอปลูกข้าวเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา

วิกฤติภัยแล้งขยายวงกว้างหลายจังหวัด โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ค.สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ลดลงอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่าตลิ่งถึง 2.93 เมตร ส่งผลกระทบต่อแพขนานยนต์ขนาดใหญ่ใช้สำหรับรับส่งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และคนข้ามฟากระหว่างฝั่ง อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท กับ ต.ท่าซุง อ.เมืองอุทัยธานี ต้องหยุดให้บริการ โดยคนขับแพขนานยนต์กล่าวว่า ปีนี้แล้งจัดในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา น้ำลดลงเรื่อยๆจนแพขนานยนต์ช่วงสันทราย ต.ท่าซุง ติดเกาะคุ้งสำเภา และเกาะเทโพ มีแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบกันพอดีเกิดตื้นเขิน เรือไม่สามารถไปจอดฝั่งได้เพราะน้ำช่วงสันทรายสูงเพียง60 ซม. แต่แพขนานยนต์จอดเทียบท่าได้ต้องมีระดับน้ำอย่างน้อย 1.60 เมตร

ที่ จ.สิงห์บุรี เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4 จากจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 4 บ่อในพื้นที่ ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดน้ำทำนา โดยนายธนิสร โนนวิเศษ นายกเทศมนตรีตำบลทับยา กล่าวว่า ตำบลทับยามี 12 หมู่บ้าน ได้รับการจัดสรรให้ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพียง4 บ่อ ไม่เพียงพอกับความ ต้องการของเกษตรที่มีพื้นที่นาถึง 1 หมื่นไร่ ที่ได้มาเพียงแก้ปัญหาเบื้องต้น มีความต้องการที่จะขอให้จัดสรรเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงนี้ โดยเฉพาะหมู่ 8 หมู่ 4 และหมู่ 2 ไม่มีน้ำเลย

ที่ จ.ราชบุรี นายจิตศักดิ์ อนุศาสนนันท์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานราชบุรี สำนักโครงการชลประทานที่ 13 ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี สั่งเจ้าหน้าที่นำป้ายแจ้งเตือนปริมาณน้ำไปติดบริเวณหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ปากท่อ ทราบถึงสถานการณ์น้ำ โดยนายจิตศักดิ์ เผยว่า อ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็งเป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดใน จ.ราชบุรี มีความจุ 36 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้เหลือน้ำเพียง 3.27 ล้าน ลบ.ม.หรือ 9.08เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์วิกฤติสุดในรอบ 15 ปี สามารถใช้อุปโภคได้เพียงอย่างเดียว คาดว่าจะส่งผลกระทบพื้นที่นา 4,500 ไร่ และพื้นที่เกษตรกรรมอื่นกว่า 10,000 ไร่

นายวนิช แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์  จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ลดลงอย่างมากหลังฝนทิ้งช่วงนานกว่า 1 เดือน ปัจจุบันมีน้ำกักเก็บ 717 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 30% ของความจุอ่าง โดยมีน้ำใช้การได้เพียง 136 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 7% ของความจุอ่างเท่านั้น ถือว่ามีน้ำต้นทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานในขณะนี้ไม่กระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า

ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เช้าวันที่ 1 ก.ค.มีน้ำไหลเข้าอ่าง 2.14 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายออกเพื่อการอุปโภคบริโภคและช่วยระบบนิเวศท้ายเขื่อน 8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เหลือน้ำใช้เพียง 259 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 2.69 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนแม่น้ำเมยด้านชายแดนอำเภอแม่สอด ขณะนี้ระดับน้ำลดระดับลงแล้วหลังเพิ่มขึ้นมาหลายวัน เนื่องจากฝนหยุดตกทำให้การใช้แม่น้ำเมยในการขนส่งสินค้าข้ามแดนไปยังจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมาเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาด้านบ้านริมเมยเริ่มคล่องตัว หลังจากช่วงก่อนรถสินค้าแห่ขึ้นสะพานจนติดขัดเพราะขนส่งทางเรือไม่ได้

สายวันเดียวกัน นายดิศธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง พร้อมด้วยนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวราวุธ ขันติยานนท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ฝนหลวงพิเศษ เดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์ฝนหลวงพิเศษนครสวรรค์ ณ สนามบินเกษตรนครสวรรค์ ตาม พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษ เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งแก่ราษฎร โดยมีเครื่องบิน 4 ลำ รับผิดชอบพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำในภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 14 จังหวัด และมีกำหนดทำฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลาย

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เฝ้าติดตามสภาพอากาศและกลุ่มเมฆในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากมีความเหมาะสมต่อการลงมือปฏิบัติการฝนเทียมให้ดำเนินการได้ทันทีเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่จะเริ่มเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ สำหรับโครงการชลประทานที่กระทรวงเกษตรฯส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดูแล 3,000 โครงการ เป็นโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายในพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะนี้พบว่าโครงการทั้งหมดไม่ได้มีการพัฒนาระบบส่งน้ำต่อยอด หลายแห่งมีสภาพแห้งขอดตื้นเขิน ดังนั้น แนวคิดที่กระทรวงเกษตรฯต้องการโอนโครงการทั้งหมดกลับมาดูแลเอง น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดและดีต่อสถานการณ์ของประเทศ ทราบว่ามีการพูดคุยกับหลาย อปท.และมีความเห็นตรงกันให้กระทรวงเกษตรฯรับกลับมาดูแล

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดูแลเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งมีแนวทาง 3 ด้าน คือ 1. อนุมัติงบประมาณเหลือจ่ายจากโครงการจ้างงานปรับปรุงระบบชลประทานและอาคารชลประทาน ในฤดูแล้งที่สิ้นสุดไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 160 ล้านบาท นำมาจ้างแรงงานเกษตรกรในช่วงนี้ที่ยังชะลอปลูกข้าวในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ช่วงพักทำนาในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2.มาตรการปลูกพืชทดแทน และการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรจะนำมาใช้หลังจากฤดูฝนนี้ และ 3. กรณีที่นาข้าวที่เพาะปลูกแล้วเสียหายจากการขาดน้ำ กระทรวงมหาดไทยมีระเบียบการประกาศภัยพิบัติและช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top