คนรุ่นเก่า VS คนรุ่นใหม่ ร่วมงานกันไม่ได้ ต้องบริหารจัดการอย่างไร ?

  • 23 พ.ค. 2566
  • 1349
หางาน,สมัครงาน,งาน,คนรุ่นเก่า VS คนรุ่นใหม่ ร่วมงานกันไม่ได้ ต้องบริหารจัดการอย่างไร ?

พฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ (บางคน) อาจทำให้ HR รุ่นพี่เหนื่อยใจกับการบริหารจัดการ เช่น

1 มาทำงานสายแทบทุกวัน งานเริ่ม 8 โมงครึ่ง เข้ามาเกือบ 10 โมง

2 เล่นมือถือบ่อยในเวลางานหรือที่ประชุม

3 ไม่พอใจกับวิธีการทำงานเดิม ๆ ของรุ่นพี่ ผลงานที่ได้ไม่ตรงตามกำหนด

4 ต้องการ WFH ตั้งแต่เริ่มทำงาน หรือให้ WFH แล้วติดต่อยาก ทัก(โทร)ไป 9 โมง ตอบกลับบ่าย 3

 

ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ทั้งเรื่องการดำเนินงานภายในองค์กรและการรับน้องเข้ามาทำงานได้ไม่นานก็ลาออก ซึ่งก็เป็นเหตุที่ทำให้ HR ติดลบกับการรับเด็กจบใหม่ แต่เงินเดือนที่ประกาศออกไปก็ไม่มากพอที่จะดึงดูดคนมีประสบการณ์เข้ามา

 

แท้จริงแล้ว น้องรุ่นใหม่ต้องปรับตัว หรือคนรุ่นเก่าต้องปรับความคิดและวิธีการทำงานเดิมที่ทำมาเมื่อหลายสิบปีก่อน !!?

 

ดีที่สุด คนทั้ง 2 รุ่น ต้องปรับและยอมรับกันในแบบที่สมเหตุสมผลค่ะ วิธีการง่าย ๆ คือการตั้งคำถาม

เช่น...

 

1 น้องเข้างาน 10 โมง แต่ทำผลงานได้ดีเท่าคนเข้างาน 8 โมงครึ่ง หรืออาจดีกว่า ซึ่งบ่งบอกได้ชัดเจนว่า ผลงานที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน (แต่จะใช้ได้รายบุคคล ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมค่ะ) ถ้าเป็นเช่นนี้องค์กรจะยังกำหนดเวลาเข้างานเดิมอีกอยู่เหรอ ? เปลี่ยนเวลาได้ไหม ? แล้วกำหนดเงื่อนไขขึ้นมา อาทิ ถ้าจะเข้า 10 โมง ต้องทำงานให้ครบ 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือขอแค่รับผิดชอบงานในแต่ละวันให้เสร็จตามกำหนด ได้ทั้งปริมาณ คุณภาพและเวลา ถ้าทำไม่ได้ จะเป็นยังไงบ้าง

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องเวลาการทำงานอาจต้องพิจารณาเป็นงานๆ ไป เพราะลักษณะงานและความเกี่ยวข้องกับผู้อื่น เช่น ลูกค้า หรือหน่วยงานภายในแตกต่างกัน บางหน่วยงานต้องรอรับงานจากอีกหน่วยงานมาทำ ซึ่งเวลาเข้างานหรือการส่งต่องานล่าช้าจะมีผลต่อการทำงานโดยรวมขององค์กรได้ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเวลาทำงาน ต้องขออนุมัติจากระดับสูงก่อนดำเนินการทุกครั้งด้วยค่ะ

 

2 เล่นมือถือบ่อยในเวลางาน แต่ได้ผลงานตามกำหนดและไม่กระทบกับการทำงานของทีม ก็ไม่น่ามีอะไรต้องกังวล ดีกว่าห้ามแล้วเขาไม่พอใจ ความสุขในการทำงานก็น้อยลง แต่ถ้าทำผลงานไม่ได้ก็ต้องเรียกมาคุย ไม่จำเป็นต้องบังคับว่า ห้ามเล่นมือถือในเวลางาน เพราะแม้ห้ามไปแล้วก็อาจไม่ได้งานก็เป็นได้ แต่ให้เงื่อนไขดีกว่าว่า งานต้องได้ตามกำหนด ต้องเสร็จตามเวลา ไม่กระทบกับงานของผู้อื่น แล้วให้พนักงานไปบริหารจัดการตัวเอง ถ้าเขาทำไม่ได้ เขาก็ต้องรู้อยู่แก่ใจว่าผลที่ตามมาจะต้องเป็นอย่างไร

 

ทั้งนี้ การเล่นมือถือหรือเล่นเน็ตนานๆ อาจเกี่ยวข้องกับการค้นหาข้อมูลมาประกอบการทำงานก็เป็นได้นะคะ จึงควรให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของงานที่ต้องได้ตามปริมาณ คุณภาพ และเวลามากกว่าการเสียเวลาสอดส่องว่าพนักงานเล่นมือถือทั้งวันหรือเปล่า

 

3 ทำไมต้องใช้วิธีการทำงานแบบเดิม ซึ่งน้องอาจมองว่ามันโบราณและเสียเวลาเกินไป ลองอธิบายเหตุผลกับน้อง ๆ ดูค่ะ ถ้าสมเหตุสมผล น้องต้องเข้าใจ หรือบริษัทลองเปิดโอกาสให้น้องได้ทำงานด้วยวิธีที่น้องอยากทำดูไหม (ตามความเหมาะสมของลักษณะงาน) ให้เขาได้พิสูจน์ว่ามันดีกว่ายังไง ถ้าผลที่ได้ออกมาไม่ดี น้องก็ต้องยอมรับและเรียนรู้การทำงานแบบเดิมไปก่อน

 

4 อยาก WFH ตั้งแต่เริ่มทำงาน ถ้ายังไม่สามารถให้สิทธิ์ได้ ก็ต้องบอกเหตุผลให้น้องเข้าใจ ยังไงนโยบายแต่ละบริษัทก็แตกต่างกัน หรือถ้าเป็นไปได้ลองให้เรียนรู้งานไปสักระยะ แล้วค่อยพิจารณาว่าควรให้สิทธิ์น้องสักช่วงสั้นๆ ดูไหม แล้วกำหนดเงื่อนไขไปว่าต้องได้งานอย่างไร ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องทำตามระบบของหน่วยงาน

 

ส่วนกรณีให้ WFH แล้วติดต่อไม่ได้ ตอบกลับช้าเกินไป ก็อย่าเพิ่งมองว่า จะต้องแก้ไขด้วยการให้เข้าออฟฟิศเท่านั้น ควรเรียกมาคุยกันก่อน แล้วกำหนดไปเลย อย่างน้อยต้องมีการตอบกลับภายในเวลาเท่าไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานในทีม ถ้าไม่ปรับตามที่กำหนดและส่งผลกระทบกับงาน ไม่ได้งานตามเป้าหมาย เขาก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาค่ะ

 

อย่างไรก็ตาม เด็กรุ่นใหม่เติบโตมากับยุคออนไลน์ อยากรู้อะไรก็ค้นหาคำตอบ และเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในโลกเรา เขาก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายดาย เช่นนี้ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาด้วย อาทิ ไปเห็นว่าองค์กรนั้นให้สิทธิ์แบบนี้ได้ แล้วทำไมองค์กรที่เขาทำงานอยู่จึงให้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้คำตอบ ก็มักตัดสินใจลาออกเพื่อไปหาองค์กรที่สามารถให้สิ่งที่เขาต้องการได้

 

สำคัญที่สุดคือ การพูดคุยกัน เมื่อมีคำถามต้องมีคำตอบที่สมเหตุสมผล อย่าตอบแค่ว่า ทำแบบนี้ไม่ได้ องค์กรไม่มีนโยบายแบบนี้ รวมถึงการเปิดใจ เพื่อเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้พิสูจน์ตัวเองตามเงื่อนไขที่องค์กรกำหนด ซึ่งถ้าน้องทำได้ องค์กรก็ต้องยอมรับและยอมปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องคุยกันอีกครั้งแล้วหาวิธีแก้กันใหม่ ถ้ายังทำไม่ได้ น้องต้องยอมรับ องค์กรก็ต้องให้โอกาสคนที่เหมาะสมกว่าเท่านั้นเองค่ะ 

 

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้เลยค่ะ https://www.facebook.com/hrbuddybyjobbkk

ขอบคุณข้อมูล :  อาจารย์ พรเทพ พงษ์สง่างาน  ที่ปรึกษาอาวุโสด้าน HR และกรรมการ บริษัท เซ็นเมนทอร์ จำกัด ,กรรมการบริหาร APK Management Center

Website : www.senmentor.com

Line : wisebrown

Tel : 081-820-9271

 

สอบถามเพิ่มเติมสำหรับ HR : 02-514-7474 ต่อ 3

อีเมล : crm@jobbkk.com

Line :  @jobbkkvip (อย่าลืมใส่ @)

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top